วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิถีแห่งโตโยต้า THE TOYOTA WAY

วิถีแห่งโตโยต้า THE TOYOTA WAY

TOYOTA WAY คืออะไร

บริษัท TOYOTA ในประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งมาประมาณ 60-70 ปีแล้ว โดยตระกูลโตโยดะ แปลว่าทุ่ง

ข้าวขนาดใหญ่ ตระกูลนี้มีอาชีพทำนา แต่มีบุตรชายคนหนึ่ง เมื่อเห็นมารดาทอผ้า จึงช่วยคิดประดิษฐ์เครื่องปั่นด้ายที่ใช้กลไกพลังน้ำหมุนและคิดประดิษฐ์เครื่องทอผ้าขึ้นมา และมีการจดลิขสิทธิ์ด้วย จากนั้น จึงพัฒนามาผลิตรถยนต์และก่อตั้งเป็นบริษัท TOYOTA ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน บริษัท TOYOTA จึงถือเป็นบริษัทที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากการคิดค้นและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการกันระหว่างการคิดสร้างสรรค์ (Creative) และ Kaizen คือ คิดปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ และได้มีการกำหนด TOYOTA WAY หรือวิถีแห่ง TOYOTA ขึ้น เมื่อปี 2001 เพื่อให้เป็น

- ปรัชญาการทำงานร่วมกันขององค์กร

- ค่านิยมที่ปฏิบัติร่วมกันในองค์กร

- วัฒนธรรมองค์กร

การกำหนด TOYOTA WAY นี้มีที่มาจากเดิมที่บริษัทจะใช้การส่งต่อความรู้ คุณค่า หรือจิตวิญญานขององค์กรผ่านทางการบอก สอน การซึมซับ ในการทำงาน และเป็นการส่งต่อระหว่างบุคคล หัวหน้าต่อลูกน้องเพื่อนร่วมงานต่อเพื่อนร่วมงาน การส่งต่อและรักษาความรู้ขององค์กร จึงเป็นในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ และจากการที่ บริษัทมีขนาดใหญ่มากขึ้น และเป็นบริษัทนานาชาติมากขึ้น ผู้บริหารบริษัทเกรงว่าความเป็น TOYOTA ที่มีรากฐานมาจากการคิดค้นและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะหายไป จึงจัดทำคัมภีร์ในการทำงานขึ้นมา เพื่อรักษาและส่งต่อ TOYOTA WAY ให้เป็นปรัชญาซึ่งกลายเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรในการทำงานของผู้บริหารและพนักงานทุกคน

รากฐานหรือจุดกำเนิดของ TOYOTA WAY

วิถีแห่งโตโยต้า Toyota Way เริ่มกำเนิดมาจากการปรับปรุงการผลิตในสายงานการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า ที่มุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตจากการปรับปรุงกระบวนการในการผลิต ซึ่งเรียกว่า Toyota Production System (TPS) ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการผลิต โดยมองว่าการผลิตโดยมีสินค้าใน Stock ถือว่าเป็นต้นทุน จึงต้องผลิตโดยไม่ให้มี Stock เหลือ เพื่อให้เป็นการผลิตโดยไม่มีต้นทุน นอกจากนี้ยังมีหลักการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ให้มีคุณภาพ หลักการดังกล่าวทำให้ Toyota มีต้นทุนการผลิตต่ำจะใช้วิธีการหลัก ๆ คือ

- Just-In-Time คือ ทันเวลาพอดี หมายถึงทำงานให้พอดีเวลา วางแผนให้ดี เตรียมการให้พอดี

- JIDOKA คือ การควบคุมตัวเองโดยอัตโนมัติ หมายถึง ในทุก ๆ กระบวนการต้องมีการ ควบคุมคุณภาพ เนื่องจากในการผลิตของ TOYOTA หากพนักงานผลิตในจุดของตนเองไม่ทันกับการไหลของสายพานการผลิต ก็สามารถหยุดสายพานการผลิตได้เพื่อทำให้ทัน แต่การหยุดสายพานการผลิตจะก่อให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้น จึงต้องมีระบบการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดที่จะนำไปสู่การหยุดสายพานการผลิต

- พยายามไม่ให้เกิดเหตุแห่งการลดคุณภาพ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้คุณภาพในการผลิตลดลงมาจาก 3 สาเหตุ คือ

1) MUDA คือ การเคลื่อนไหวของพนักงานประกอบที่ไม่เกิดคุณค่า หมายถึง การที่พนักงานมี การเคลื่อนไหวที่ทำให้เสียเวลาในการทำงาน

2) MURI คือ การรับภาระเกินความสามารถของบุคคลและอุปกรณ์

3) MURA คือ แผนการผลิตหรือปริมาณการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ

หลักสำคัญของ TOYOTA WAY

มีหัวใจสำคัญ 5 ประการ ที่ถือเป็นคุณลักษณะ (DNA) ของพนักงาน TOYOTA ทุกคนในการทำงาน ได้แก่

1) ความท้าทาย (Challenge)

2) ไคเซ็น (Kaizen)

3) เก็นจิ เก็นบุตซึ (Genchi Genbutsu)

4) การยอมรับนับถือ (Respect)

5) การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

ความท้าทาย (Challenge)

ความท้าทาย (Challenge) คือ เราจะสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาว และบรรลุความท้าทายด้วยความกล้าหาญ และสร้างความฝันของเราให้เป็นจริง ประกอบด้วย

- High Quality คือ การเสริมสร้างคุณค่าตลอดกระบวนการผลิต การส่งมอบสินค้าและการบริการ

- Drive for progress for improvement , self reliance คือ มีจิตวิญญาณแห่งความท้าทาย

- Based on fact & possibility คือ มีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลและวางแผนระยะยาว

- Risk , Priority , Optimization คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ นั่นคือ การมีความท้าทายจะต้องเป็นความท้าทายที่เป็นไปได้ โดยมีความสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับความเป็นไปได้

ในการทำงานของบริษัท ผู้บริหารได้พยายามสร้างมุมมองในการ คิดสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอ เมื่อเราประสบความสำเร็จสิ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถาม ว่าปัจจุบันมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานหรือไม่ หากไม่มิใช่แสดงว่าเราประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่อาจมองได้ว่าเรากำลังย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือสร้างเป้าหมายใหม่ที่สูงมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา

ไคเซ็น (Kaizen)

ไคเซ็น (Kaizen) คือ การปรับปรุงการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและผลักดันนวัตกรรมใหม่ และ

วิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ประกอบด้วย

- Effort improvement คือ การมีจิตสำนึกในการไคเซ็น และมีความคิดในเชิงนวัตกรรม

- Cost reduction , eliminate MURI-MURA-MUDA, JIT (Just in Time), CS (Customer Service) in next process, Jidoka, PPS (Practical Problem Solving) คือ การสร้างระบบ งานและโครงสร้างที่เกื้อกูลกัน มีการลดต้นทุนและการสูญเสียต่าง ๆ

- Share idea, learning from mistake, standardized , yokoten (ถ่ายโอนความรู้) คือ การส่งเสริมให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้

Kaizen ที่จะประสบความสำเร็จต้องมีหลักพื้นฐานคือ การมีจิตสำนึกมีความคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำให้ดีขึ้น จะต้องก่อให้เกิดการลดต้นทุน ลดการสูญเสียต่าง ๆ มีระบบ Just in Time ทำให้พอดี และต้องสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นลูกค้าประเภท end-user หมายถึงประชาชนหรือผู้รับบริการภายนอก และลูกค้าในกระบวนการคือผู้ที่รับงานต่อจากเรา

Kaizen ไม่ใช่การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุง เพราะ Kaizen ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมด เพียงแค่ปรับปรุงบางจุดเท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้นและผู้รับบริการสะดวกขึ้น ตัวอย่างการทำ Kaizen ของ TOYOTA เช่น การปรับปรุงการขันน็อตล้อรถยนต์ โดยการทำให้มีสีติดตรงเครื่องมือขันน็อต หากพนักงานขันน็อตแน่นพอ จะทำให้สีนั้นติดที่หัวน็อต เป็นการยืนยันว่าขันน็อต ให้ล้อแน่นแล้ว การเริ่มต้นทำ Kaizen ที่ TOYOTA จะเริ่มด้วยการทำ Idea Contest เพื่อให้พนักงานนำเสนอ ความคิดใหม่ ๆ ในการปรับปรุงการทำงาน มีการเสนอความคิดกันมากกว่า 1 พันความคิดต่อเดือน และมีรางวัลให้ความคิดดีเด่น แล้วจะมีการเผยแพร่ความคิดนั้นไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ขององค์กร

เก็นจิ เก็นบุตซึ (Genchi Genbutsu)

เก็นจิ เก็นบุตซึ (Genchi Genbutsu) คือ การไปยังต้นกำเนิดเพื่อค้นหาความจริง ทำให้สามารถ

ตัดสินใจได้ถูกต้อง สร้างความเป็นเอกฉันท์ และบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย

- Grasp problem , analyze root causes , confirm of facts , early study คือ การหา ข้อเท็จจริง วิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

- Sharing goals & quantity , less conflict , hoshin kanri คือ การสร้างฉันทามติที่มี ประสิทธิภาพ

- Commit to action , decision then to action , PDCA approach for problem solvingคือ การมีพันธะสัญญาสู่ความสำเร็จ

Genchi Genbutsu มีหลักพื้นฐานคือ การไปให้ถึงที่จริงและเห็นของจริง คือ Go to see หรือ

Go and see เพื่อให้รู้ต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ เช่น ผู้บริหาร TOYOTA จะต้องเดินทางไปหา Dealer ใน ต่างจังหวัดทุกเดือน เพื่อให้เห็นปัญหาข้อเท็จจริง และจะได้พูดคุยกับต้นตอปัญหา เพื่อสร้างฉันทามติ การรับรองรับรู้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ การเดินทางไปพบ Dealer ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริหารของ TOYOTA สามารถให้ความรู้แก่ Dealer ได้ด้วย

การยอมรับนับถือ (Respect)

การยอมรับนับถือ (Respect) คือ การเคารพและให้การยอมรับผู้อื่น รวมทั้งพยายามทุกวิถีทางเพื่อ

ความเข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงความรับผิดชอบ และปฏิบัติอย่างดีที่สุดเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ประกอบด้วย

- Security for the company คือ การเคารพผู้ถือหุ้น , ลูกค้า , พนักงาน , คู่ค้าทางธุรกิจ , สังคม

- Mutual Trust & Responsibility ทั้งในกรณีของ leader และ team member คือ การไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันในระหว่างตัวผู้นำและสมาชิกในทีม

- Sincere communication, openness & accept of difference, fairness, willingness to listen, self confidence, accountability คือ การสื่อสารอย่างจริงใจต่อกัน

การยอมรับนับถือมีหลักพื้นฐาน คือ Respect to people หมายถึง การยอมรับว่าทุกคนเท่าเทียมกัน โดย TOYOTA พยายามรณรงค์ให้มีการไว้วางใจ นับถือ ยอมรับผู้อื่น มีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในแง่ ของการนำเสนอความคิด จะมีการเปิดกว้างให้โอกาสพนักงานทุกระดับ แม้สุดท้ายการตัดสินใจจะยังเป็นอำนาจของผู้บริหาร

การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

การทำงานเป็นทีม (Teamwork) คือ การกระตุ้นบุคลากรและการเจริญเติบโตในสายอาชีพแบ่งปันโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถสูงสุดสำหรับรายบุคคลและทีม ประกอบด้วย

- Team member development , opportunity staff , develop through delegation คือ การมีพันธะสัญญาในเรื่องการให้การศึกษาและการพัฒนา

- Respect for humanity & creativity , mutual contribution on individual creativity and teamwork คือ การเคารพในความเป็นปัจเจกชน การตระหนักถึงการรวมพลังภายในทีมเพื่อให้ทีม แข็งแกร่ง

การทำงานใน TOYOTA เมื่อเกิดปัญหา จะไม่ถามว่าใครเป็นคนทำแต่จะถามว่าเพราะอะไรเนื่องจากเน้นการทำงานเป็นทีม จะไม่โทษรายบุคคล

กุญแจแห่งความสำเร็จของ KAIZEN

KAI คือ Continuous

ZEN คือ Improvement

ดังนั้น KAIZEN เท่ากับ Continuous Improvement คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้

กระบวนการ Plan-Do-Check-Act คือ การดูปัญหา วางแผนหาวิธีแก้ปัญหา ทดลอง แล้วตรวจสอบว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่ ถ้าเป็นวิธีที่ดีก็นำไปใช้

รถยนต์ที่ผลิตออกมาจะมีการทำ Kaizen กันทุกวัน คือปรับปรุงไปเรื่อย ๆ รายละเอียดชิ้นส่วน

จะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ภายหลังจากมีการทดลอง ทดสอบแล้ว พบว่าอะไรที่ทำให้ดีขึ้น ก็จะปรับปรุง

กุญแจแห่งความสำเร็จของ Kaizen จะประกอบด้วย

- หลัก 5 ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย ถือเป็นพื้นฐานของ

Kaizen

- หลัก 5 Why คือ การถามคำถาม 5 ครั้ง จนกว่าจะเข้าใจและสามารถตอบคำถามได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง นั่นคือ ถ้าเราถามว่าทำไม หลายๆ ครั้ง จะทำให้รู้ว่าสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขที่ต้นตอของปัญหา

- หลัก Visualization คือ ทุกอย่างต้องมองเห็นและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน เช่น การมีสัญญาณแสดงความก้าวหน้าของการ ผลิต หรือการทำงานในแต่ละวัน เพื่อช่วยเตือนสติและควบคุมการทำงานให้เสร็จภายในกำหนด

การทำ Kaizen เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เช่น การตัดสินใจเลือกเส้นทางในการเดินทางไปทำงาน จะมีการลองผิดลองถูกและปรับเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ จนพบเส้นทางที่ดีที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด และใช้เส้นทางนั้นตลอดไป


แนวทางการนำวิธีการทำงานแบบ TOYOTA WAY ที่มีความสำเร็จและเป็น DNA ของโตโยต้าไม่ได้เพียงแค่เป็นสิ่งที่รับรู้และเข้าใจ แต่ได้ถูกนำไปใช้ในทุกกระบวนการทำงานของบริษัทซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการนำไปใช้น่าจะประกอบไปด้วย สามส่วนได้แก่

1.Leader คือการส่งเสริมและการเป็นแบบอย่างของผู้บริหารของบริษัท ในทุกกระบวนการทำงานเช่นการวางแผน การดำเนินงานตามแผน การติดตามและปรับปรุงแผนงานผู้บริหารจะเข้ามาดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากองค์กรมีการบริหารงานที่ค่อยข้างจะ แบนราบสายการบังคับบัญชาสั้น ทำให้การติดตามงานและปรับปรุงแก้ไขทำได้อย่างรวดเร็ว ในการแก้ปัญหาผู้บริหารจะไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินใจเองแต่จะสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้มีการประชุมและให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันเสนอแนะหาทางออก (Respect for people) รวมทั้งจะคอยตั้งคำถาม แสวงหาเป้าหมายที่ท้าทายให้เกิดอยู่ตลอดเวลาทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องคอยพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)

2. Procedure คือการสร้างกระบวนการต่างๆ ที่ส่งเสริมให้มีการทำงานอย่าง TOYOTA WAY อยู่ตลอดเวลา เช่น ตั้งแต่การสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการทำงานที่โตโยต้าเรียกว่า Hoshin Kanri จะมีการประชุมร่วมกันมีการส่งลูก ในเรื่องต่างๆ ให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวของ Catch Ball เพื่อให้ทุกส่วนสร้างแนวทางในการทำงาน และมีความเข้าใจในแผนงานมีตัวแทนที่จะประสานงานในเรื่องนั้นๆ Window ส่วนในการดำเนินงานให้ประสบผลตามแผนจะมีการประชุม รายเดือน รายสองเดือน รายไตรมาส กลางปี และะมีการประชุมย่อย มีเวทีหลายเวทีเพื่อที่จะค้นหา ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงได้ ตรงจุดและทันเวลา ส่วนในการทำงานจะมีการประชุมย่อยของแต่ละแผนกในช่วงเช้า Morning Talk ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงในการทำงานจของแผนก นอกจากนี้ยังมีกระบวนการ

3.Instrument คือแนวทางในการทำงานจะมีคู่มือหรือ Guideline เช่นในกระบวนการทำงาน มีการจัดทำ Standardize Work ซึ่งมีประโยชน์ไม่ใช่ แค่ในการทำงานแต่ช่วยในการคิดปรับปรุงการทำงาน จะเห็นว่า ในการทำงานจะมีการแบ่งงานออกเป็น Task ย่อยๆ ซึ่งจะทำให้สามารถค้นหา ปัญหาและอุปสรรค เพื่อที่จะทำการปรับปรุงแก้ไขได้สะดวกมากขึ้น ส่วนกระบวนการคิดวิเคราะห์บริษัทจะมี Toyota Business Practice ซึ่งเป็นวิธีการ แนวทางในการคิดแบบโตโยต้า ซึ่งจะใช้ในการแก้ไขปัญหา ทำให้สามารถส่งผ่านปรัชญา แนวทางความคิดแบบวิถีแห่งโตโยต้าให้แก่พนักงานโดยอัตโนมัติ

การจัดการแบบ วิถีแห่งโตโยต้า ไม่ใช่แค่ข้อความ หรือตัวหนังสือบนกระดาษแต่เป็นวัฒนธรรมและ ลักษณะวิธีการทำงานของบุคลาการในองค์กร ที่มุ่งมั่นในการพัฒนา ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ในการทำงานไม่ใช่แค่ต้องการให้ผลงานสำเร็จ เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่พยายามค้นหาว่าจะทำให้ทุกสิ่งดีขี้นได้อย่างไร จะพัฒนาได้อย่างไร โดยการตั้งคำถามหรือปัญหาในกระบวนการทำงาน และค้นหาคำตอบโดยพยายามหาต้นตอที่แท้จริงของปัญหาแล้วแก้ให้ตรงจุด ตามกระบวนการ Toyota Business Practice และเมื่อทำการปรับปรุงได้เสร็จแล้ว ก็จะนำมาเป็นมาตรฐานในการทำงานรวมทั้งเผยแพร่ให้คนในองค์กรรับรู้ Yokoten ผ่านการนำเสนอให้เป็นลักษณะที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่าย Visualization เพื่อเป็นการรักษาความรู้ให้อยู่กับองค์กร

ในเมื่อ TOYOTA WAY เป็นสิ่งที่เป็นสากลทุกบริษัทสามารถรับรู้และเข้าใจได้ แต่การที่บริษัทโตโยต้าสามารถที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการทำงานเป็นทีม ได้อย่างที่เห็นในปัจจุบันน่าจะเป็นเพราะการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการคิดค้นพัฒนาปรับปรุงทั้งจากผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กร รวมถึงการพยายามรักษาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง คือพยายามปรับปรุงตลอดเวลา ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วหยุด หรือรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงทำการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พยายามค้นหาปัญหา หรือสร้างปัญหาขึ้นมา แล้วทำการคิดค้น การวางแผนเพื่อทำการปรับปรุงพัฒนาโดยตลอด ไม่เคยหยุดคิดค้น เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น